Home | ซีรีส์การลงทุน | เมื่อพ่อถูกโกงหุ้น คนเป็นลูกจึงลุกมาเรียนรู้หุ้น เพื่อกำจัดจุดอ่อนให้พ่อและครอบครัว | Investor Stories

เมื่อพ่อถูกโกงหุ้น คนเป็นลูกจึงลุกมาเรียนรู้หุ้น เพื่อกำจัดจุดอ่อนให้พ่อและครอบครัว

“เมื่อ 30 ปีก่อนคุณพ่อได้หุ้นมา แต่ด้วยความไม่มีความรู้ ท่านก็ถูกคนใก้ลตัวโกง คนในบ้านก็มีอารมณ์ยิ่งเป็นคนรู้จักที่เป็นคนทำ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคุณพ่อก็ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนที่มากพอ นั่นคือ จุดที่ทำให้ผมตัดสินใจเรียนรู้เรื่องการลงทุน แต่ตอนนั้นยังเด็กมาก” คุณติ๊ก ศุภฤกษ์   บุญปิตุรักษ์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 จากกลต. ได้เปิดประเด็นถึงหมุดหมายหลักที่ทำให้เขาเข้าสู่โลกของการลงทุน

“แต่เหมือนอะไรนำพาเราไปเจอกับหนังสือหุ้นในร้านซีเอ็ดบุ๊คพอดี ด้วยความที่พื้นเพผมเป็นคนชอบตัวเลข และชอบสังเกตปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในเชิงสังคมอยู่แล้วด้วย ก็รู้สึกว่าการลงทุนมันดูเป็นการนำทักษะเหล่านี้มารวมกันเพื่อตัดสินใจทำเงิน และก็น่าจะช่วยปิดจุดอ่อนในเรื่องนี้ให้กับครอบครัวผมด้วย ก็เลยทำให้รู้สึกสนใจขึ้นมาครับ”

“หนังสือชุดพ่อรวยสอนลูก ช่วยเปิดมุมมองให้ผมได้มองเห็นความเป็นไปได้ในโลกของการทำเงินอีกแบบครับ ซึ่งการทำงานหนักแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจได้ แต่เราต้องรู้ว่าควรทำงานอย่างไรให้ถูกวิธีด้วย ซึ่งในหนังสือได้แนะนำการลงทุนและการสร้างธุรกิจเอาไว้หลายวิธีด้วยกัน แต่ตัวผมเองรู้สึกว่า การลงทุนในหุ้นตอบโจทย์กับตัวผมเองได้มากที่สุดครับ”

กระแสหนังสือพ่อรวยสอนลูกได้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งหันหน้าสู่การลงทุน

“ตอนนั้นคนรอบตัวผมส่วนใหญ่สนใจเรื่องการสร้างธุรกิจมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นกันครับ ในรุ่นผมช่วงนั้นกระแสพ่อรวยบูมหนักมากครับ ความคิดเรื่องการปฏิเสธสถานะลูกจ้างตลอดชีวิตเพื่อสร้างธุรกิจ และเป็นเจ้านายของตัวเองเหมือนจะมาเริ่มอินกันมาก ๆ ในช่วงนี้ เพราะตอนนั้นระบบการศึกษาไทยไม่ได้มีวิชา Financial ให้เราเรียนรู้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนต้องขวนขวายหาอ่านกันนอกห้องเรียน”

“ตอนม.ปลาย หลังจากศึกษาเรื่องหุ้นมาได้สักพัก ก็ขอให้คุณแม่เปิดพอร์ต เพราะอายุผมไม่ถึง จากนั้นก็เริ่มลงทุนครั้งแรก ซึ่งการลงทุนครั้งแรกของผมได้กำไรครับ ตอนนั้นผมเอาหุ้นที่พ่อผมได้มาในฐานะพนักงานบริษัทออกมาขาย แล้วซื้อหุ้น ADVANC, AP, DCON ถือเอาไว้ประมาณเดือนนึง ได้กำไรมา 10% ก็ขายออกเลยครับ ผมมองว่าช่วงนั้นตลาดกำลังเป็นขาขึ้นด้วย โอกาสที่จะได้กำไรจากหุ้นก็มันก็ค่อนข้างสูงครับ”

“ที่จริง ตอนผมเด็ก ๆ ผมก็ฝันไว้หลายอาชีพครับ มีตั้งแต่จิตแพทย์ หน่วยรบพิเศษ นักออกแบบเกม หรือแม้แต่แฮคเกอร์ก็เคยครับ 5555” คุณติ๊กพูดไปหัวเราะไป

ถึงเวลาหรือยังที่ระบบการศึกษาไทยควรมีวิชา Financial

“แต่ที่จริงจังที่สุดก็คือโปรแกรมเมอร์ครับ ทีแรกก็ตั้งใจว่า จบมัธยมแล้วก็จะเรียนต่อด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จนพอเริ่มได้มาสัมผัสเรื่องการลงทุนแล้ว ก็รู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ลึก ๆ ในใจของผมได้มากกว่า ผมเลือกเรียนด้านการเงินมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นผมสนุกกับการหาความรู้มากกว่า แล้วพอดีกับที่แม่ผมก็เริ่มสนใจการลงทุนด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นก็เลยเริ่มสอนแม่เรื่องการลงทุนและให้แม่เป็นคนช่วยดูพอร์ตเป็นหลักไปครับ”

“หลังเรียนจบปริญญาตรี ตอนนั้นผมอายุ 25 แล้ว และก็มาเทรด SET50 กับ Gold Futures ตอนที่ทดลองก่อนเทรดจริงมันก็ดูราบรื่นดี แต่พอเริ่มลงสนามจริงแล้ว มันไปไม่รอดครับ ผมทำทุกอย่างตามแผนที่วางไว้ 100% แต่ก็ไปไม่รอด จนเงินที่เหลืออยู่มีไม่พอค่า  Margin สำหรับเปิดสัญญาใหม่ได้อีก ตอนนั้นสภาพจิตใจย่ำแย่มากครับ ก็เลยพักไป”

พอร์ตแตกจึงกลับไปฝึกวิทยายุทธจากหมากล้อม

“ผมก็หยุดไปฝึกสภาวะอารมณ์ หรือพวกจิตวิทยาการเทรด ซึ่งการทำสมาธิช่วยได้มาก จนกลับมาเทรดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมมีการกำหนดแผนให้เหมาะกับธรรมชาติของโปรดักส์ และธรรมชาติของตัวเราเองครับ กับอีกเรื่องนึงก็คือ หากเราพลาด หรือเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราต้องไม่เสียศูนย์ เราต้องฝึกฝนวิธีการรักษาสภาพจิตใจของเราให้อยู่ในระดับที่ยังปกติเอาไว้ให้ได้เพื่อประคองการลงทุนของเราต่อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดได้อย่างมีนัยสำคัญครับ”

หมากล้อม คือ เคล็ดลับในการฝึกสมาธิ และสภาวะอารมณ์

“ผมเคยเรียนหมากล้อมในฐานะวิชาเลือกเสรีตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบไปแล้วผมก็พยายามฝึกฝนต่อเนื่องด้วยการเล่นออนไลน์ และพยายามหาตำราเพื่อพัฒนาฝีมือเพิ่มเติม จนกระทั่งได้รู้จักคุ้นเคยกับอาจารย์สอนหมากล้อมหลายท่านมาเรื่อย ๆ ซึ่งเจ้าหมากล้อมเป็นเหมือนแบบจำลองการเกิด และการดับของสถานการณ์ต่าง ๆ บนโลกได้ครับ เป็นเกมที่พร้อมจะมีการเกิดและการดับได้ในทุกตาเดินจริง ๆ บางครั้ง การวางหมากเม็ดเดียวก็สามารถจับกินเกือบทั้งกระดานได้หากอีกฝ่ายจงใจพากลุ่มหมากของตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมากจนเกินไป ในการเล่นหมากล้อม การที่คุณพยายามก้าวหน้าเร็วเกินไป หรือยึดติดกับอิทธิพลเดิมจนช้าเกินไป หรืออะไรก็ตามแต่ที่มันมากเกินไปนั้น ล้วนแต่นำพาไปสู่ความพ่ายแพ้ด้วยกันทั้งสิ้นครับ ภาวะที่ไม่ช้าไม่เร็ว ไม่แข็งไม่อ่อนจนเกินไปเช่นนี้ จะนำพาไปสู่ความเฉียบคมแม่นยำ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แล้วแนวคิดตรงนี้จะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามให้กับตัวเองในเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีทีเดียว”

“ในการเล่นหมากล้อม เป็นการแข่งขันกันระหว่างหมากขาวและหมากดำ ในบางครั้ง หมากขาวกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทำให้หมากขาวเป็นผู้กุมแนวโน้มของเกมบนกระดาน แต่แล้วในตาหนึ่ง ขาวเกิดเดินพลาด หากดำฉวยโอกาสได้สำเร็จ แนวโน้มของเกมจะเริ่มค่อยๆพลิกกลับมาเป็นของดำแทน สำหรับการลงทุนนั้น เราเป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ ไม่ใช่ผู้เล่น สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ มองการเกิดดับและการต่อสู้กันระหว่างแรงซื้อและแรงขายที่เกิดขึ้นบนตลาดให้ออกและเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น เราก็จะสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนของเราให้เหมาะกับสถานการณ์ได้”

“นอกจากนี้ ในการวางหมากแต่ละตานั้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งในด้านการอ่านหมากเพื่อคำนวณความเป็นไปได้ในอนาคต และการผสมผสานแนวคิดกับประสบการณ์ที่ผ่านมาเข้าด้วยกันเพื่อกำหนดทิศทางการเล่นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นภาวะที่จำเป็นต้องใช้สมาธิอย่างมาก จะรีบร้อนไม่ได้เลย การเล่นหมากล้อมอยู่เสมอจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวเองให้เข้าสู่สภาวะอารมณ์ที่สงบและสมดุลได้ง่ายขึ้นด้วยครับ”

“โดยส่วนตัว ผมถนัดการผสมผสานข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐานเข้ากับ Price Action อย่างแนวรับแนวต้าน แนวโน้ม และแพทเทิร์นเชิงพฤติกรรมของราคาครับ ตลาดคือกิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ แม้จะมีการใช้โรบอทเทรดกันมากขึ้น แต่เจ้าของเงินก็เป็นมนุษย์ ข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐานที่เป็นตัวนำตลาดก็ยังเกิดจากมนุษย์ 

“มนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ และพร้อมที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดินหมากพลาดอยู่เสมอ ไม่ฝ่ายแรงซื้อก็ฝ่ายแรงขาย”

“เช่นเดียวกับการเล่นหมากล้อม ที่แม้จะเป็นการปะทะกันระหว่างผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังมีจังหวะที่พลาดเกิดขึ้นได้ในทุกกระดาน และเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะนำมาสู่การเกิดแนวโน้มราคาของฝ่ายที่กำลังได้เปรียบ แต่บางครั้งความได้เปรียบก็อาจเป็นเพียงชั่วคราว และถูกฝ่ายตรงข้ามกลับมากลืนกินแนวโน้มได้ เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น และเป็นโอกาสในการทำเงินที่ไม่มีวันจบสิ้นให้กับผู้ที่เข้าใจในจุดนี้เช่นกัน ในฐานะของเทรดเดอร์และนักลงทุน เราจำเป็นต้องมองพฤติกรรมตรงนี้ให้ออก แล้วนำมาผสมผสานกับวิธีการบริหารความเสี่ยง หรือ Money Management ให้ลงตัว ก็จะช่วยให้อยู่รอดในโลกของการลงทุนได้ครับ”

ทำไมเราต้องลงทุน

“ความไม่แน่นอน คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และอะไรก็ตามที่มันมีช่องทางให้พลาด มันก็พร้อมที่จะพลาดขึ้นมาได้ในวันหนึ่ง ขอให้เราตระหนักและเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ให้ดี ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้นั้น มีแค่ความรู้และแผนการยังไม่พอ เราจำเป็นที่จะต้องมีความพยายามในการผลักดันให้สิ่งที่ตั้งใจไว้เกิดขึ้นจริงควบคู่ไปด้วย ทุกวันนี้ การลงทุนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตของเราได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของกิจการที่จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบัน หรือเป็นพนักงานลูกจ้างที่จำเป็นต้องส่งเงินเข้าประกันสังคมตามระบบทุกเดือน ที่สุดท้ายประกันสังคมก็จะนำเงินของเราไปลงทุนในตลาด หรือเป็นกลุ่มผู้เกษียณจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากทรัพย์สินที่สะสมมาตลอดทั้งชีวิต ยังไม่นับรวมถึงการพยายามเสนอขายโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ ที่เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นในแต่ละวัน”

“ซึ่งหากเราเรียนรู้การลงทุนตั้งแต่วันนี้ นอกจากจะช่วยให้เรากลั่นกรองโอกาสในการลงทุนที่เป็นอันตรายออกไปได้แล้ว ยังสามารถสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินออมได้อีกด้วย เพราะการลงทุนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนยุคปัจจุบันไปแล้ว การที่ได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่ยังเด็กจะช่วยเสริมความเข้าใจถึงความสำคัญของการบริหารเงิน และการตัดสินใจในเรื่องที่มีเงินๆทองๆมาเกี่ยวข้องได้  นอกจากนี้ การเรียนรู้เรื่องการเงินยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในกลไกเชิงสังคมของโลกในทางอ้อมได้อีกด้วยครับ”

“สำหรับผมแล้ว ความเสี่ยงที่แท้จริง คือ การทำสิ่งที่ไม่เข้าใจครับ คือ คำว่าเข้าใจเนี่ย มันไม่ใช่แค่ว่าเรารู้นะ ถ้าเราแค่รู้เฉย ๆ แต่ไม่เข้าใจว่ามันมีความซับซ้อนที่เป็นไปได้อะไรแฝงอยู่บ้าง ผมว่ามันก็ยังเสี่ยงอยู่ แต่ถ้าเราเข้าใจมันจริง ๆ เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งว่าถ้าเริ่มต้นมาแบบนี้ มันมีโอกาสที่จะแตกแขนงออกไปเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต

และในความเป็นไปได้แต่ละทางนั้น เรามีวิธีรับมือที่ดีพอเตรียมไว้หรือยัง แบบนี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้บ้างครับ ซึ่งความเข้าใจตรงนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการอ่านหรือการเข้าคอร์สสัมมนาเพียงอย่างเดียวได้ แต่เราจำเป็นต้องมีการคลุกคลีและติดตามสถานการณ์ในตลาดจริงควบคู่กันไปด้วยครับ”

“ทุกวันนี้ เราก็เห็นแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมากแค่ไหน และหากเราไม่พยายามเรียนรู้เรื่องการลงทุนในวันนี้ และไปเริ่มเรียนรู้เอาในวันข้างหน้าที่เริ่มมีเงินเก็บมากพอแล้ว ในวันนั้น หากมีความผิดพลาดที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น มันจะทำให้คุณเสียหายหนักยิ่งกว่าเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ในวันนี้เสียอีกครับ

ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือกลัวการลงทุนแค่ไหน แต่มันก็อยู่ชีวิตประจำวันของเราทุกคน การลงทุนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั้งโลกทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้เลย จะดีกว่าไหมถ้าเราเริ่มต้นเรียนรู้กับมันตั้งแต่วันนี้ ดีกว่าพึ่งมาเริ่มต้นเรียนรู้ในวันที่สายเกินไปครับ” และนี่คือบทสัมภาษณ์ของคุณติ๊ก ศุภฤกษ์