ใกล้สิ้นปีมาดู 3 วิธีลดหย่อนภาษีปี 2565ที่คุณต้องรู้
ภาษีเปรียบดั่งระเบิดเวลาที่อาจจะสร้างภาระให้เราในอนาคตหากไม่ศึกษา และที่สำคัญการจ่ายภาษี เป็นหนึ่งในหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไทย คนไทยทุกคนที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยยื่นได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์
คุณภูเขา พูนภักดิ์ เตชะเลิศไพศาล วิทยากรและนักวางแผนการเงิน CFP® บอกกับเราว่า คนไทยจะให้ความสำคัญเรื่องภาษีก็ต่อเมื่อเราต้องจ่ายภาษี ซึ่งคนไทยยังมีความรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะภาษีเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่มีความซับซ้อน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ภาษีอาจจะเป็นระเบิดเวลาและสร้างภาระให้กับเราในอนาคตครับ
“ภาครัฐของทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องความรู้ภาษีครับ เพราะภาษีเป็นรายได้ของประเทศชาติ แต่ในส่วนของความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน จะเห็นว่าเน้นมาก ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เพราะเมื่อประชาชนมีรายได้มากพอแล้ว พอมีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินเข้าไปเสริม ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นครับ สำหรับคนที่มีรายได้มากทางภาครัฐก็มาตรการให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีผ่านเครื่องมือทางการเงินหลายอย่าง” โดยมีวิธีลดหย่อนภาษีจะมีแบบไหนบ้างที่มนุษย์เงินเดือนนิยมใช้ เรามาดูกันครับ
3 ประเภทสำหรับค่าลดหย่อนภาษี
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว ประกอบด้วย
1.1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
1.2 ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
1.3 ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี
1.4 ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท
1.5 ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท
1.6 ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน ประกอบด้วย
2.1 เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 7,200 บาท
2.2 เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
2.3 เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาท
2.4 เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
2.5 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้โดยไม่เกิน 200,000 บาท
การลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน ประกอบด้วย
2.6 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2.7 กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2.8 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
2.9 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
2.10 เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในธุรกิจ Social Enterprise สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
3.1 เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
3.2 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
3.3 เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
นี่คือ 3 วิธีลดหย่อนภาษีที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนมักนิยมใช้ในการลด แต่ถึงอย่างนั้นการลดหย่อนภาษียังมีมาตราการของภาครัฐเพิ่มเข้ามานั่นคือ การลดหย่อนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ประเภทดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
และค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ตัวอย่างเช่นในปี 2565 ก็คือโครงการช้อปดีมีคืน 2565 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง