ประวัติกราฟแท่งเทียนและเทคนิคการอ่านกราฟ | Munehisa Homma
เมื่อ 200 ปีก่อนพ่อค้าข้าวชาวญี่ปุ่นได้ค้นพบว่า แง่มุมจิตวิทยาของตลาดมีความสำคัญต่อการซื้อขาย จนกลายเป็นต้นแบบของทฤษฏีที่ว่า “อารมณ์ของเทรดเดอร์มีอิทธิพลต่อราคาในการลงทุน” และยังเป็นต้นแบบของกราฟแท่งเทียนที่ใช้ในปัจจุบัน ชื่อของเขาคือ Munehisa Homma เขามีชีวิตอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1724 ถึง 1803
Homma Munehisa เกิดในครอบครัวหนึ่งที่มีฐานะร่ำรวย ตระกูลของเขาทำธุรกิจค้าข้าว แต่ด้วยฉลาดจึงได้รับมรดกให้เป็นคนดูแลกิจการของที่บ้านแม้ว่าตัวเองจะเป็นน้องเล็กสุดในบ้านก็ตาม
เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารเขาก็เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของครอบครัวประสบความสำเร็จในการค้า แน่นอนว่า ถ้าในปัจจุบันมันก็มีกลุยุทธ์มากมายให้ลอกเลียนหรือถอดโมเดลตาม แต่ทว่ายุคนั้นสิ่งนี้มันแทบจะไม่มี แต่ Homma ก็รู้ดีว่า การจะครองตลาดได้ต้องมี Data และ Consumer Insight เขาจึงเริ่มค้นหาสิ่ง ๆ นี้ด้วยตัวเอง (ก่อนที่มันจะถูกนำมาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการทำธุรกิจ)
Homma เริ่มบันทึกการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดข้าวบนกระดาษ และก็เช็คราคาข้าวย้อนหลังไปนานหลายสิบปี จากนั้นเขาก็วาดรูปแบบราคาในทุกวัน เพื่อบันทึกราคาการเปิดและปิดในแต่ละวันคล้าย ๆ กราฟแท่งเทียนในปัจจุบัน
โดย Homma เริ่มเห็นรูปแบบ และสัญญาณซ้ำ ๆ ในแถบราคาที่เขาวาด และในไม่ช้าเขาก็เริ่มตั้งชื่อรูปแบบต่าง ๆ เช่น Spinning tops, Stars, Doji’s, Hanging Man และอื่น ๆ แต่ละรูปแบบสื่อความหมายได้ชัดเจน และ Homma เริ่มใช้รูปแบบเหล่านี้เพื่อทำนายทิศทางในอนาคตของราคาข้าว การค้นพบรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาทำให้ Homma ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง จนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด
Homma ค้นพบว่า “การเคลื่อนไหวของราคาจะสะท้อนถึงจิตวิทยาของตลาด และของคนในการซื้อขาย รวมถึงรูปแบบราคาข้าว” จากนั้นเขาก็ได้เขียนหนังสือออกมา 2 เล่มคือ SAKATA HENSO และ SOBA SAIN NO DEN ต่อมาก็มีชาวตะวันตกเห็นว่าสิ่งที่ Homma ค้นพบจะเป็นโยชน์อย่างมาก ชายคนนั้นจึงนำสิ่งที่ Homma เขียนไปใช้ ซึ่งปรากฏว่าได้มันเวิร์ค
สิ่งที่ Homma ค้นพบ ทำให้เกิดระบบข้อมูลราคา เพื่อค้นหาและสร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงเวลาหนึ่ง และใช้รูปแบบดังกล่าวเพื่อทำการซื้อขายที่ทำกำไรได้ พร้อมยังศึกษาข้อมูลราคาในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาเพื่อหารูปแบบใหม่ ๆ จนกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบันโดยเขาระบุว่า “การที่ราคาเคลื่อนไหว เกิดจากการกระทำด้วยอารมณ์ของความโลภและความกลัว ไม่ใช่กระบวนการคิดเชิงตรรกะ”
ในหนังสือของ Homma “The Fountain of Gold — The Three Monkey Record of Money” ที่เขียนในปี 1755 เขากล่าวว่า “ลักษณะทางจิตวิทยาของตลาดมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการซื้อขาย และอารมณ์ของผู้ค้ามีอิทธิพลอย่างมากต่อราคาข้าว” กล่าวอีกนัยหนึ่ง Homma เป็นผู้ค้ารายแรกที่ตระหนักว่าการติดตามการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดทำให้เขา “เห็น” พฤติกรรมทางจิตวิทยาของผู้ค้าคนอื่น ๆ และใช้ประโยชน์จากมันได้
จนในเว็บไซต์ต่างประเทศมีการเปรียบเทียบว่า หากรายได้ที่ Homma ทำได้ในยุคนั้นจะเทียบเท่ากับหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน และนี่คือเรื่องราวของพ่อค้าข้าวชาวญี่ปุ่นที่ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ยังคงถูกใช้ในปัจจุบัน