Home | ซีรีส์การลงทุน | ชีวิต การลงทุน ภาษี และวิธีแก้หนี้เสีย | คุณภูเขา พูนภักดิ์ เตชะเลิศไพศาล

ชีวิต การลงทุน ภาษี และวิธีแก้หนี้เสีย | คุยเรื่องการเงินกับคุณภูเขา พูนภักดิ์ เตชะเลิศไพศาล จากนิสิตคณะวิศวะกรรมศาสตร์สู่นักวิจัยก่อนจะพบบทบาทใหม่คือ นักวางแผนการเงิน ที่มองว่า การวางแผนการเงินก็คือการวางแผนชีวิต

โดยปัจจุบันคุณภูเขาเป็นเจ้าของเพจวางแผนการเงินกับ Poohkao Financial Club และยังเป็นวิทยากรและนักวางแผนการเงินคุณวุฒิ CFP อยู่ในวงการการเงินมากว่า 8 ปี

จุดเริ่มต้นทั้งหมดมันเกิดขึ้นหลังจากทำงานไปได้ 2 ปี คุณภูเขาก็พบว่า รายได้ของเรานั้นพอใช้ แต่ทำไมเราถึงไม่มีเงินเก็บเลย พอคิดถึงอนาคตที่ถ้าวันหนึ่งเราอาจจะทำงานไม่ไหวจนเราไม่มีรายได้แล้วเราจะอยู่อย่างไร และถ้าวันนั้นเงินเฟ้อทำให้ข้าวของค่าใช้จ่ายมันแพงมากขึ้นไปอีก เราจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณภูเขาเล็งเห็นว่า การวางแผนการเงินและการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต

สังคมไทยกับการลงทุน

“จากประสบการณ์ ผมเชื่อว่า เราทุกคนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้นะครับ เพราะทุกคนก็อยากรวย อยากมีรายได้ แต่หลายคนขาดความรู้ในเรื่องการลงทุน พอเอาเงินไปทำอะไรซักอย่างที่เผชิญความเสี่ยง เมื่อเกิดการขาดทุน ก็จะทำให้รู้สึกกลัวการลงทุนครับ ซึ่งความกลัวเรื่องการลงทุนไม่ได้ผิดปกติอะไร เราทุกคนกลัว เพียงแต่ก่อนจะเริ่มต้นเราเองก็ต้องเข้าใจความกลัวนั้นก่อน เราเรียกสิ่งนี้ว่า ความรู้เรื่อง Money Management”

“แต่ใช่ว่าเราจะมีความรู้อย่างเดียวแล้วจะไปได้ เราต้องมีเงินสำหรับลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป การลงทุนของคุณก็อาจเสี่ยง ความรู้และเงินทุนต้องอยู่ในคน ๆ เดียวกัน และการที่เรามีการจัดการด้านการเงินที่ดีจะช่วยจัดระเบียบชีวิตทางการเงิน และทำให้เราไม่ลงทุนเกินตัว คือเราลงทุนในสินทรัพย์ที่เราศึกษาแล้วว่าได้ผลตอบแทนตามที่เราต้องการ ภายใต้ความเสี่ยงที่เรารับได้ สามารถรักษาความปลอดภัยของพอร์ตเราไว้ได้ครับ ส่วนเงินลงทุนควรจะเป็นก้อนที่เราเก็บไว้เพื่อการลงทุน มีการคำนวนไว้แล้วว่า หากขาดทุนจะรับได้เท่าไร อย่าเอาเงินในชีวิตประจำวันมาลงทุน ต้องเป็นเงินเย็น”

คำถามต่อมา สำหรับคนที่เป็นหนี้แล้วอยากลงทุนสามารถทำได้ไหม “ทำได้ แต่ต้องมีเงินที่เพียงพอ ห้ามเอาเงินที่ชำระหนี้มาลงทุนเด็ดขาด” เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้คุณภูเขาก็แนะนำว่า

“สิ่งที่เราห้ามทำเลยนะครับ คือห้ามก่อหนี้ระยะสั้น มาผ่อนชำระหนี้ใด ๆ การนำหนี้ระยะสั้น เช่นบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด มาผ่อนชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็น หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิตด้วยกันเองก็ตาม จะยิ่งทำให้มีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น เงินที่จะนำมาชำระหนี้รายเดือน ควรจะเป็นเงินที่เกิดจากรายรับของเรา เพราะการผ่อนชำระหนี้โดยไม่มีรายรับจะทำให้เงินสำรองของเราหมดไป”

“เมื่อเงินสำรองหมดก็จะทำให้เราไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ ต้องก่อหนี้เพื่อมาชำระหนี้ ให้รอดไปในแต่ละเดือนทำให้ยอดหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นไปอีก เป็นการแก้ปัญหาผิดวิธี”

กระบวนการแก้หนี้ในเทคนิคของคุณภูเขา

“ถ้าเป็นคนที่มีรายได้มากพอที่สามารถแบกรับภาระหนี้ได้ เช่นผ่อนบ้านผ่อนรถยังไหว แบบนี้ก็ลุยต่อไปได้ครับ แต่ถ้าใครที่ไม่ไหวแล้ว หนี้ค่อยๆเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขั้นตอนการแก้หนี้จะเป็นดังนี้ คือ หยุดก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะบัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หรือพวกหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง อันนี้ห้ามเด็ดขาด”

“ต่อมาเป็นสิ่งที่เราควรจะทำคือ ลองเจรจากับเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินก็ตาม ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ว่าเค้าสามารถช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง

• ขอให้เค้าลดยอดชำระลงให้เราพอจ่ายไหว

• หรือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยก่อนได้รึเปล่า

• หรือพอจะผ่อนผันได้ซัก 2-3 เดือนได้ไหม

• Refinance รวมยอดหนี้ต่างๆ เป็นสินเชื่อก้อนเดียวที่มีดอกเบี้ยถูกลง มียอดผ่อนชำระต่อเดือนที่เราสามารถจ่ายไหว

ถ้าเป็นหนี้นอกระบบจะเจรจาได้ยาก แต่ก็ต้องลองคุยดู”

“สเต็ปต่อมา เราก็ต้องพยายามปิดหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงก่อน เช่น พวกหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสด แล้วเราก็ต้องหารายได้ให้ได้เพิ่มขึ้น ในจุดนี้คุณต้องขยันขึ้นอย่างมาก เช่นทำ OT หรือทำงานอื่นเสริม”

คุณภูเขาเสริมอีกว่า ถ้าทำมาทั้งหมดแล้ว ยังแก้ปัญหาหนี้ไม่ได้ และไม่มีใครให้ยืมเงิน เราก็ต้องขายทรัพย์สินทิ้ง เพื่อเคลียร์ภาระทั้งหมดแล้วค่อยเริ่มต้นสร้างใหม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังมีชีวิต เราก็ยังมีโอกาสสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้เสมอ

อยากบอกอะไรกับคนที่มีหนี้สินเยอะไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง

“เราต้องแก้หนี้ก่อน ถึงจะสามารถวางแผนการเงินได้ คนเป็นหนี้เหมือนคนที่มีต้นทุนติดลบครับ เราต้องใช้แรงกายและแรงใจในการดึงตัวเองให้หลุดพ้นออกจากสภาวะนี้ให้ได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้อย่างถึงที่สุดครับ”

ภาษีเปรียบดั่งระเบิดเวลาที่อาจจะสร้างภาระให้เราในอนาคตหากไม่ศึกษา

คุณภูเขาบอกกับเราว่า คนไทยจะให้ความสำคัญเรื่องภาษีก็ต่อเมื่อเราต้องจ่ายภาษี ซึ่งคนไทยยังมีความรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะภาษีเป็นเรื่องของกฎหมาย ที่มีความซับซ้อน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ภาษีอาจจะเป็นระเบิดเวลาและสร้างภาระให้กับเราในอนาคตครับ

“ภาครัฐของทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องความรู้ภาษีครับ เพราะภาษีเป็นรายได้ของประเทศชาติ แต่ในส่วนของความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน จะเห็นว่าเน้นมาก ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เพราะเมื่อประชาชนมีรายได้มากพอแล้ว พอมีความรู้เรื่องการวางแผนการเงินเข้าไปเสริม ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นครับ”

“ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ เราจะสังเกตุได้จากมาตรการภาครัฐที่ให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีผ่านเครื่องมือทางการเงินหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประกันหรือกองทุนก็ตาม ที่ช่วยทั้งในเรื่องภาษีและการวางแผนการเงินไปในตัวครับ”

การวางแผนการเงิน การลงทุน และภาษี ต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของเด็กไทย